วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธี “3 ไม่” เมื่อ “ฮาร์ดดิสก์” จมน้ำ


 แม้ข้าวของหลายอย่างจะเสียหายไปพร้อมกับการมาเยือนของน้ำ แต่เราก็อาจกู้ “ข้อมูล” ที่มีค่าต่อธุรกิจหลายพันล้าน หรืออาจเป็นข้อมูลที่มีค่าต่อจิตใจจนประเมินค่าไม่ได้ เพียงแค่เราปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ 3 อย่าง นั่นคือ ไม่ลองเปิดใช้งาน ไม่เปิดฝาดูเองและไม่เป่าลมให้แห้ง
       
       “ส่วนอื่นแห้งได้หมด ยกเว้นฮาร์ดดิสก์” คือคำแนะนำจาก ฉัตรณรงค์ ทรงสกุล นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งกล่าวขึ้นภายในกิจกรรมให้ความรู้ด้านข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการกู้ข้อมูลฮาร์ดดิสก์สำหรับผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ธ.ค.54 ณ ลานกิจกรรมศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย
       
       เหตุผลที่ฉัตรณรงค์ไม่แนะนำให้เป่าแห้งฮาร์ดดิสก์ที่จมนั้นเนื่องจากจะทำให้คราบสกปรกที่มาพร้อมกับน้ำติดแน่นอยู่กับแผ่นจานบันทึกข้อมูล ทำความสะอาดได้ลำบากขึ้นและบางครั้งอาจจะทำให้ไม่สามารถกู้ข้อมูลสำคัญกลับมาได้ ซึ่งทางด้าน ไพโรจน์ เตียมังกรพันธุ์ จากบริษัท อินเตอร์ ดาต้า รีคัฟเวอรี จำกัด ตัวแทนจากภาคธุรกิจด้านการกู้ข้อมูลจากสื่อบันทึกข้อมูลดิจิทัล ได้แนะวิธีสั้นๆ ในการป้องกันข้อมูลเสียหายจากกรณีฮาร์ดดิสก์จมน้ำ คือ 1.ไม่เปิดเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ฮาร์ดดิสก์ 2.ไม่เปิดฝาฮารดดิสก์เอง และ 3.ไม่ทำให้ฮาร์ดดิสก์แห้ง 
       
       “ห้ามเปิดเครื่องเพราะน้ำและฝุ่นที่เข้าไปจะทำลายจานจนเสีย ทุกชิ้นส่วนเปลี่ยนได้ ยกเว้น จานบันทึกข้อมูล อย่าพยายามทำให้แห้ง หากน้ำแห้งข้างในจะทำให้ตะกอนติดอยู่และการทำความสะอาดจะยากกว่าเดิม และอย่าเปิดฝาเอง ซึ่งการเปิดฝาฮาร์ดดิสก์นั้นต้องอยู่ภายในห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) ระดับคลาส 100 เท่านั้น ฮาร์ดดิสก์ที่จมน้ำนั้นยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ก่อนจมน้ำ จึงยังกู้ได้อยู่ เมื่อเทียบกับกรณีฮาร์ดดิสก์ตกแล้ว ฮาร์ดดิสก์ที่ตกจะเกิดรอยขึ้นบนแผ่นทำให้โอกาสในการกู้คืนแทบเป็นไปไม่ได้เลย” ไพโรจน์กล่าว
       
       ไพโรจน์กล่าวว่าน้ำที่เข้าในฮาร์ดดิสก์นั้นจะไม่ทำอันตรายจานบันทึกข้อมูลซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เก็บข้อมูลอันมีค่าไว้ เมื่อส่งถึงผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจะล้างเอาน้ำออกก่อนที่จะบันทึกข้อมูล แต่กรณีที่น้ำเป็นกรดหรือด่างเข้าไปในฮาร์ดดิสก์หรือแผ่นจานทำปฏิกิริยากับอากาศแล้วจะเป็นปัญหาต่อการกู้ข้อมูล หรือในกรณีเลวร้ายอาจไม่สามารถกู้ข้อมูลคืนได้ โดยโอกาสที่จะกู้ข้อมูลคืนนั้นขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับจานบันทึกข้อมูล หากจานถูกทำลายแล้วมีโอกาสที่จะกู้คืนได้น้อย ทั้งนี้ การกู้คืนข้อมูลต้องเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญ มีสถานที่และอุปกรณ์พร้อม
       
       ส่วนฉัตรณรงค์นั้นเสริมว่า การแจ้งเหตุที่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่จะช่วยได้มาก เพราะเจ้าหน้าที่จะได้แก้ไขตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เช่น กรณีตกน้ำเจ้าหน้าที่จะได้ไม่เสียบไฟจ่ายกระแสไฟฟ้า พร้อมทั้งบอกด้วยว่าฮาร์ดดิสก์ที่เหมือนใช้งานไม่ได้แล้ว เช่น ตกน้ำ หรือฟอร์แมตหลายๆ ครั้งนั้น ยังสามารถกู้ข้อมูลกลับมาได้อยู่ โดยการฟอร์แมตก็เหมือนการลบดัชนีรายชื่อหนังสือในห้องสมุด แต่หนังสือยังคงอยู่
       
       พร้อมกันนี้ ดร.ศิริเดช บุญแสง รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการข้อมูล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายว่าชั้นเก็บข้อมูลนั้นมีความหนาในระดับอังสตรอม หรือ 10^-10 เมตร ซึ่งเล็กกว่าระดับนาโนเมตร โดยการเก็บข้อมูลบิต 0 และ 1 นั้นจะอยู่ในรูปสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ในการเขียนอ่านข้อมูลนั้นหัวอ่านจะไม่สัมผัสกับจานบันทึกข้อมูลแต่จะลอยอยู่เหนือแผ่นเหมือนเครื่องบินรอนไปมาในระยะห่างที่น้อยกว่าความกว้างของเส้นผม ซึ่งหากมีสิ่งสกปรกเข้าไปอยู่ตรงส่วนดังกล่าวจะทำให้ฮาร์ดดิสก์พังได้ อย่างไรก็ดี โอกาสที่ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกจะเข้าไปในฮาร์ดดิสก์นั้นน้อยมาก แต่อากาศยังคงเข้าไปได้
       
       “เมื่ออากาศเข้าไปได้ น้ำก็เข้าไปได้เช่นกัน ก็ภาวนาว่าน้ำเน่าดำๆ ในภาคกลางนั้นไม่เป็นกรดมาก ถ้าเป็นกรดแล้วแย่เลย” ดร.ศิริเดชกล่าว



Credit : www.manager.co.th
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000154312